top of page

Post

ฝุ่น PM 2.5 กลับมาแล้ว! ฝุ่นมลพิษอนุภาคเล็กจิ๋ว แต่สามารถทำร้ายสุขภาพเราได้อย่างมหาศาล


ช่วงนี้หากเพื่อนๆ ได้เช็คค่าฝุ่น PM 2.5 เพื่อนๆ จะเห็นได้ว่า ช่วงนี้ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 เริ่มกลับมาเยือนอากาศบ้านเราอีกครั้งแล้ว แต่ทราบหรือไม่ว่าฝุ่นมลพิษนี้ทำร้ายร่างกายเราอย่างไร ? และเพื่อนๆ ทราบหรือไม่ว่าหากสูดดมเข้าไปสะสมในร่างกายเรื่อยๆ โดยไม่ป้องกันอย่างถูกต้อง มันอาจส่งผลต่อร่างกายขั้นรุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยด้วย !?

วันนี้แอดมินจะมาพูดถึงเจ้าฝุ่น PM 2.5 นี้คืออะไร มีผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง และเราจะป้องกันได้อย่างไร

  • ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 มนุษย์สามารถสูดหายใจเข้าไปได้ลึกถึงทางเดินหายใจและปอด ก่อให้เกิดการระคายเคือง แสบจมูก ไอ จาม มีเสมหะ หอบหืด หัวใจวายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองตีบ และที่อันตรายที่สุดอาจถึงขั้นเป็นมะเร็งปอด

  • ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะการออกกำลังกายกลางแจ้ง ในช่วงที่มีภาวะหมอกควันและฝุ่นสูง เนื่องจากการใช้แรงมากหรือการหายใจแรง อาจยิ่งเพิ่มการสูดเอาละอองฝุ่นมลพิษ PM 2.5 เข้าสู่ทางเดินหายใจและปอดมากขึ้น

  • การสวมหน้ากาก N95 ต้องสวมอย่างถูกวิธี หมั่นกระชับหน้ากากไม่ให้หลวม และไม่ควรนำหน้ากากใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่หากมีฝุ่นละอองหนาเกินไป

  • ในช่วงที่มีภาวะหมอกควันและฝุ่นสูง ควรอยู่ในบ้านหรือในอาคารที่มีเครื่องฟอกอากาศ และควรเลือกไส้กรองอากาศชนิดที่มี HEPA Filter ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดฝุ่นละออง PM 2.5 ได้

องค์กรอนามัยโลก (WHO) กำหนดค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ ว่าหากมีค่าเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ประเทศไทยกำหนดอันตรายของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

แต่ไม่ว่าจะถือมาตรฐานใด ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติด้วยปริมาณเกือบ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะบริเวณริมถนนหรือบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่นและรอบสถานที่ก่อสร้าง

ทำความรู้จักฝุ่นมลพิษ PM 2.5

เป็นเรื่องปกติที่กรุงเทพฯ และเมืองหลวงของอีกหลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในอากาศอยู่เสมอ ด้วยประชากรหนาแน่น ความคับคั่งของการจราจร รวมถึง เขม่าควันจากการเผาขยะ ควันเสียจากรถยนต์ ควันพิษจากโรงงาน และฝุ่นมลพิษจากการก่อสร้าง แต่ปัญหาวิกฤติที่พวกเรากำลังวิตกคือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน (Particulate Matter 2.5 – PM 2.5) ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทำให้ขาดความตระหนักถึงภัยอันตรายต่อสุขภาพอย่างใหญ่หลวง ฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋ว PM 2.5 ส่วนใหญ่มักเกิดจากการเผาไหม้เครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ของทั้งรถยนต์ทั้งใหม่และเก่า มักมีปริมาณสูงสุดช่วงรถติดมากๆ ในช่วงเช้าและเย็นของวันทำงาน โดยมากจะเกิดในช่วงฤดูหนาวที่อากาศนิ่งและแห้ง ส่งผลให้ฝุ่นไม่ลอยขึ้นที่สูง อีกทั้งปัจจุบันกรุงเทพฯ กำลังประสบปัญหาลมพัดผ่านได้ยาก อากาศหยุดนิ่ง เนื่องจากมีตึกสูงปิดกั้นทางลมเป็นจำนวนมาก รวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้างที่มีอยู่แทบทุกพื้นที่ มาเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลง

ภัยอันตรายของฝุ่นมลพิษ PM 2.5

เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีขนาดอนุภาคที่เล็กมาก ทำให้เราสามารถสูดฝุ่นละอองพิษ PM 2.5 ได้เข้าลึกถึงทางเดินหายใจและปอด บางอนุภาคยังอาจเข้าสู่กระแสเลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย

ภัยอันตรายต่อทางเดินหายใจและปอด

แน่นอนว่ามลพิษในอากาศส่งผลโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจและปอด ยิ่งเมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ยิ่งสามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ หรือเป็นสาเหตุให้คนปกติเป็นหอบหืดได้เช่นกัน หากไม่รีบแก้ไข หรือไม่รู้ตัวว่าได้สูดเอามลพิษขนาดเล็กเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและปอดจนสะสมเป็นเวลานาน อาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอดได้ในที่สุด

ภัยอันตรายต่อหัวใจ

การสูดหายใจเอาฝุ่นละอองพิษเล็กจิ๋วสะสมติดต่อกันระยะหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการตะกอนภายในหลอดเลือด จนทำให้เกิดหัวใจวาย หรือหลอดเลือดสมองตีบได้ ทั้งนี้การสัมผัสมลพิษทางอากาศยังมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เต้นผิดจังหวะ และอาจรุนแรงจนส่งผลให้หัวใจวายเฉียบพลัน

ภัยอันตรายต่อสมอง

เมื่อฝุ่นผงขนาดเล็กสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและเกิดการสะสมขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และเลือดมีความหนืด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดในสมอง รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ หรือแตก เป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและเสียชีวิตได้

กลุ่มเสี่ยงอันตรายจากฝุ่นมลพิษ PM 2.5

ชาวกรุงเทพฯ ทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นพิษที่ไม่ป้องกัน มีความเสี่ยงเกิดโรคมากน้อยขึ้นกับสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกาย สำหรับเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอดหรือโรคหัวใจ ถือเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงขึ้น

เด็ก

อาจกล่าวได้ว่ายิ่งอายุน้อย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากเด็กเล็กมีภูมิคุ้มกันโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่ อวัยวะต่างๆ ในร่างกายยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา ทั้งนี้ฝุ่นพิษในอากาศที่สามารถเข้าสู่ระทางเดินหายใจและกระแสเลือดได้ง่ายจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของระบบต่างๆ หรือทำให้เกิดโรคร้ายแรงในที่สุด

หญิงมีครรภ์

นอกจากภัยร้ายส่งผลต่อตัวคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สูดฝุ่นละอองโดยตรงแล้ว ทารกในครรภ์ยังเป็นอันตรายด้วยเช่นกัน มีการศึกษาพบว่ามลพิษในอากาศมีผลต่อการคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงแท้งบุตร และเพิ่มอัตราการตายของทารกในครรภ์ได้

ผู้สูงอายุ

เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะเริ่มเสื่อมถอย ระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายลดลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลงดลง หากต้องเผชิญกับฝุ่นละออง อาจมีแนวโน้มเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหอบหืด โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญฝุ่นพิษให้มากที่สุด

ผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว

โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคปอด และโรคหัวใจชนิดต่างๆ การสูดฝุ่นผงเข้าสู่ร่างกายโดยตรงส่งผลให้โรคกำเริบ อาจถึงกับชีวิตได้

การป้องกันพิษฝุ่น PM 2.5 ด้วยตัวเอง

หน้ากาก

ป้องกันตัวเองจากการสูดฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ด้วยมาสก์ปิดจมูกที่สามารถกรองอนุภาคฝุ่นละอองพิษได้สูง เช่น หน้ากาก N95 กรองได้อย่างน้อย 95% และหน้ากาก N99 กรองได้มากถึง 99% โดยต้องสวมอย่างถูกต้องตามวิธีที่ระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ยังควรหมั่นกระชับหน้ากากไม่ให้หลวม เนื่องจากฝุ่นละอองมีขนาดเล็กมากจะสามารถลอดผ่านหน้ากากได้ง่าย ไม่ควรนำหน้ากากใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่หาก มีฝุ่นละอองหนาเกินไป

แอพช่วยดูค่าฝุ่น

การเฝ้าระวังระดับมลพิษด้วยการโหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Asia Air Quality (Android), Global Air Quality (Android) และ Air Quality Index (iOS)

หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน

การเดินทางกลางแจ้งส่งผลให้ต้องสัมผัสและสูดดมละอองฝุ่นจำนวนมาก จึงควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่นิยมออกกำลังกายกลางแจ้งควรงดในช่วงที่มีภาวะหมอกควันและฝุ่นสูง เนื่องจากการใช้แรงมากหรือหายใจแรงอาจยิ่งเพิ่มการสูดเอาละอองฝุ่นผง PM2.5 เข้าสู่ทางเดินหายใจและปอดมากขึ้น

พยายามอยู่ภายในอาคารที่ปิดมิดชิด และใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในการกำจัด PM 2.5 ได้

อาจใช้เครื่องปรับอากาศภายในบ้านแม้อุณภูมิภายนอกไม่สูง หรือปิดหน้าต่างให้มิดชิดในช่วงที่มีมลพิษสูง ที่สำคัญควรใช้เครื่องฟอกอากาศช่วยฟอกอากาศในบ้านให้สะอาดบริสุทธิ์ และควรเลือกไส้กรองอากาศชนิดที่มี HEPA Filter ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ ที่สำคัญเพื่อน ๆ ควรเปลี่ยนไส้กรองอากาศทุกๆ 6 เดือน - 1 ปี เนื่องจากไส้กรองอากาศที่อุดตัน หรือมีฝุ่นผงติดอยู่มาก จะไม่สามารถฟอกอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ




งดสูบบุหรี่และกิจกรรมที่ทำให้เกิดควัน

การสูบบุหรี่หรือสูดกลิ่นควันอาจส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจและปอดอ่อนแอ เมื่อต้องเผชิญกับฝุ่นพิษในอากาศยิ่งส่งผลให้สุขภาพแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงเกิดหอบหืดและมะเร็งปอด

สังเกตตัวเอง

โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรพกยาติดตัวเสมอ หรือพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานที่หนาแน่นของมลพิษทางอากาศ หรือไม่แน่ใจการป้องกันตนได้ผลหรือไม่ โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มเสี่ยง หากพบอาการ เช่น หายใจลำบาก หน้ามืด อ่อนแรง หรือไอติดต่อกันรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที

อย่ามองข้ามปัญหามลพิษร้ายแรงที่คนกรุงเทพฯ กำลังเผชิญ เพราะฝุ่นเล็กจิ๋วที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ แล้วพบกันใหม่ในบทความถัดไปนะคะ 🥰

แอดมิน G ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช


bottom of page