เพื่อนๆ คนไหนที่คิดมาตลอดว่า “อาการนอนกรน” เป็นเรื่องตลก ขำขัน และน่าอับอาย แอดขอบอกเลยว่า จริงๆ แล้วการนอนกรนไม่ใช่เรื่องตลกอย่างที่ใครคิด… การนอนกรนกลับเป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย นั่นคืออวัยวะในระบบหายใจส่วนต้นบางส่วนแคบลง เมื่อเราหายใจผ่านบริเวณดังกล่าวจะทำให้เกิดเสียง จึงกลายเป็นการนอนกรนในที่สุด นอกจากนี้การนอนกรนยังเป็นอาการที่สำคัญในการเกิด ”ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ” ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
การวินิจฉัยอาการนอนกรน
หากเพื่อนๆ มีอาการนอนกรนแล้ว ควรที่จะปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการนอนกรนของเพื่อนๆ เพื่อหาระดับความเสี่ยงในการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เป็นอันตราย โดยแพทย์จะทำการซักถามประวัติอาการของเพื่อนๆ ร่วมกับการตรวจวินิจฉัยอวัยวะอื่น ๆ ผ่านการเอกซเรย์ เช่น กะโหลก กระดูกใบหน้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถวินิจฉัยอาการนอนกรนได้จากการตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test เพื่อหาระดับความเสี่ยงในการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เป็นอันตราย หากพบว่าอาการดังกล่าวไม่ได้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับในระดับรุนแรง ก็ถือว่าไม่น่าเป็นห่วงมากนัก สามารถปรับพฤติกรรมการนอนเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากพบว่ามีความเสี่ยงในระดับที่อันตรายต้องหาแนวทางในการรักษาโดยเร็วที่สุด
วิธีการรักษาอาการนอนกรน
วิธีการรักษาอาการนอนกรนมีทั้งหมด 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก (CPAP) การใช้ฟันยางและการผ่าตัด โดยแต่ละวิธีจะมีประสิทธิภาพและความเหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีอาการและระดับความรุนแรงต่างกัน
1.) เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก หรือ ซีแพ็พ (CPAP)
เครื่อง CPAP เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษา โดยเครื่อง CPAP จะช่วยเปิดขยายทางเดินหายใจส่วนต้นไม่ให้ตีบแคบขณะที่เรานอนหลับ โดยตัวเครื่องจะทำงานโดยการเป่าลมผ่านท่อสายยาง ไปสู่จมูกผ่านหน้ากาก และต้องปรับแรงดันที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละราย จะต้องการแรงดันที่แตกต่างกัน โดยปรับแรงดันที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยจนไม่มีอาการนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
การรักษาอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ด้วยเครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก CPAP ถือเป็นมาตรฐานในการรักษา และได้รับการยอมรับมากที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงในการรักษา และเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการทุกระดับ
2.) การใส่ฟันยาง หรือ Oral Appliance
การรักษาอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยการใส่ฟันยางจะรักษาได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอาการระดับเล็กน้อยจนถึงปานกลาง แต่ผู้ป่วยอาการในระดับรุนแรง มักไม่ได้ผลเท่าที่ควร
การรักษาโดยการใส่ฟันยาง ทันตแพทย์จะเป็นผู้ตรวจและประดิษฐ์ฟันยางให้ผู้ป่วยแต่ละคน ฟันยางจะช่วยเปิดทางเดินหายใจส่วนต้นให้กว้างขึ้น โดยการยื่นขากรรไกรล่างและลิ้นมาทางด้านหน้า จะช่วยให้เกิดอาการกรนน้อยลง
ปัญหาที่มักจะพบได้จากการใส่ฟันยาง ได้แก่ ปวดขากรรไกร การสบฟันเปลี่ยนไป น้ำลายไหลมากขณะนอนหลับ
3.) การผ่าตัด
การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ จะได้ผลดีในบางราย เช่น การผ่าตัดต่อมทอนซิลอะดีนอยด์ในเด็ก จะสามารถรักษาและได้ผลดีในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก แต่การรักษาโดยการผ่าตัดในผู้ใหญ่ ควรพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป
การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ มีอะไรบ้าง?
3.1) การผ่าตัดจมูก เช่น แก้ไขจมูกคด แก้ไขเยื่อบุโพรงจมูก
การผ่าตัดเพื่อลดการบวมของโพรงจมูก จะช่วยลดอาการคัดจมูก และอาการกรนได้บ้าง แต่มักไม่ช่วยทำให้โรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับหายได้ วิธีนี้จึงมักรักษาร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆ
3.2) การผ่าตัดในระดับลิ้นไก่ เพดานอ่อน
การผ่าตัดในระดับลิ้นไก่ เพดานอ่อน มักจะได้ผลดีเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย จึงควรปรึกษาแพทย์ทาง หู คอ จมูก ก่อนว่าผู้ป่วยรายนั้นเหมาะสมที่จะได้รับการผ่าตัดหรือไม่ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดนี้ได้ เช่น พูดไม่ชัด สำลักน้ำขึ้นจมูก เป็นต้น
3.3) การผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรการผ่าตัดเลื่อนขากรรไกร มักจะได้ผลดีกว่าการผ่าตัดระดับลิ้นไก่อย่างเดียว แต่ก็จะมีความเสี่ยงได้รับภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าเช่นกัน โดยการผ่าตัดขากรรไกรจะช่วยรักษาอาการกรนให้ดีขึ้น แต่มักจะยังไม่สามารถรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับให้หายขาดได้ จึงควรติดตามอาการ และตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) อีกครั้ง ภายหลังได้รับการผ่าตัดแล้วระยะหนึ่ง
วิธีการนอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับเพื่อนๆ ที่มีอาการกรนในระดับเล็กน้อย จนถึงไม่มีอาการ แอดขอแนะนำวิธีทำให้นอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนๆ สามารถทำตามได้ดังนี้
1.) ออกกำลังกาย ช่วงเย็นอย่างน้อย 30 นาทีหรือ 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน 2.) รักษาน้ำหนักตัวให้ได้ตามมาตรฐาน สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วน การลดน้ำหนัก/ออกกำลังกายจะช่วยให้อาการนอนกรนน้อยลง และนอนหลับได้ดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3.) หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ช่วง 4 ชั่วโมงก่อนนอน เนื่องจากนิโคติน และแอลกอฮอล์จะทำให้การนอนหลับประสิทธิภาพแย่ลง นอนหลับยาก ตื่นบ่อย นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังกดการหายใจ ทำให้มีอาการกรนมากขึ้น 4.) หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนัก อาหารรสจัด กาแฟ เครื่องดื่มกระตุ้นประสาททุกชนิด และงดอาหารอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงก่อนนอน 5.) รับประทานกล้วยหอมสัก 1 ผลก่อนนอน เพราะกล้วยหอมมีกรดอะมิโน “ทริปโตเฟน (Tryptophan)” ช่วยคลายเครียดลด ความกังวล ช่วยให้นอนหลับได้สบายขึ้น
6.) หลีกเลี่ยงการซื้อยานอนหลับมารับประทานเอง เนื่องจากยานอนหลับ จะกดการหายใจทำให้ มีอาการกรนมากยิ่งขึ้น หากเพื่อนๆ มีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วยควรปรึกษาแพทย์ ก่อนที่จะซื้อยานอนหลับมารับประทานเอง
7.) การนอนตะแคงข้าง จะช่วยลดอาการกรนได้ดีกว่าการนอนหงาย และปรับเปลี่ยนท่านอนให้ศีรษะอยู่สูงกว่าลำตัว 8.) เข้านอนให้เป็นเวลา ไม่ควรนอนดึกมาก ระยะเวลาที่ควรเข้านอนคือ 21.00-23.00 น. รวมถึงตื่นนอนให้เป็นเวลาด้วย ควรนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน 9.) ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจก่อนนอน เข้านอนเมื่อร่างกายพร้อมจะนอน เข้านอนเมื่อรู้สึกง่วง ไม่อยู่ในภาวะตึงเครียด ไม่ฝืนนอน
“การนอนหลับที่ดี ไม่ใช่การนอนในระยะเวลายาวนาน แต่เป็นการนอนหลับที่ลึกและเต็มอิ่ม ตื่นมารู้สึกสดชื่น ถึงเรียกว่าการนอนหลับที่มีคุณภาพ” แล้วพบกันใหม่ในบทความถัดไปนะคะ 🥰
แอดมิน G
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์โรคการนอนหลับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
Comments